โรงงานมีกี่จำพวก? แบบไหนต้องขออนุญาตก่อนก่อตั้ง
การสร้างโรงงาน หรือก่อตั้งโรงงานนั้น การขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมาย และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตามเงื่อนไขที่กรมแรงงานอุตสาหกรรมกำหนด
และก่อนที่เราจะไปพูดถึงเรื่องใบ รง. หรือใบอนุญาตก่อตั้งโรงงาน ว่ามีกี่ประเภทนั้น เราจะพาไปดูว่าโรงงานแต่ละจำพวกคืออะไร โรงงานที่ต้องขออนุญาตตั้งโรงงานคือโรงงานจำพวกไหน และมีโรงงานจำพวกไหนบ้างที่ไม่ต้องขออนุญาตในการก่อตั้งโรงงาน
ซึ่งตามกฎหมายได้แบ่งโรงงานออกเป็น 3 จำพวก ได้แก่
โรงงานจำพวกที่ 1
คือ โรงงานที่มีแรงม้ารวมของเครื่องจักร 5-20 แรงม้า หรือมีจำนวนคนงาน 7-20 คน
โรงงานจำพวกนี้ผู้ประกอบกิจการไม่ต้องขออนุญาต สามารถประกอบกิจการได้ทันทีตามความประสงค์ของผู้ประกอบกิจการ แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงและประกาศกระทรวง
โรงงานจำพวกที่ 2
คือ โรงงานที่มีแรงม้ารวมของเครื่องจักรมากกว่า 20 แรงม้าแต่ไม่เกิน 50 แรงม้า หรือมีจำนวนคนงาน 21-50 คน
โรงงานจำพวกนี้ผู้ประกอบกิจการไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง และประกาศกระทรวง รวมทั้งออกแบบก่อสร้าง และเมื่อจะเริ่มประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้ผู้อนุญาตทราบก่อน
โรงงานจำพวกที่ 3
คือ โรงงานที่มีแรงม้ารวมของเครื่องจักรมากกว่า 50 แรงม้า หรือ มีจำนวนคนงานมากกว่า 50 คน หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะ
โรงงานจำพวกนี้ จะต้องดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานก่อนประกอบกิจการ ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยผู้ประกอบการจะต้องทำใบขออนุญาต ได้แก่
แบบ รง.3 คือ แบบคำขอรับใบอนุญาต/ขยายโรงงาน
แบบ รง.3/1 คือ คำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
แบบ รง.3/2 คือ แบบคำขอรับโอนใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งจะใช้ในกรณีที่มีการซื้อ เช่า หรือเช่าซื้อโรงงาน รวมถึงการรับเป็นมรดก เป็นต้น
แบบ รง.4 คือ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
แบบ รง.5 คือ ใบแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3
จะเห็นว่า การขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผู้ประกอบการควรตรวจสอบว่าโรงงานที่กำลังจะก่อตั้งนั้นจัดอยู่ในจำพวกไหน ไม่ว่าจะเป็นแรงม้าของเครื่องจักร ประเภทของกิจการ และจำนวนคนที่ใช้ในการในโรงงาน
และที่สำคัญที่สุด โรงงานควรตั้งอยู่ในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม มีอาณาบริเวณกว้างขวาง ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ และไม่ก่อให้เกิดเหตุอันตรายต่อบุคคล หรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยครับ.
17/11/2565 13:58:16